ประเด็นร้อน

คดีโกงประวัติศาสตร์ ฉากสุดท้าย 'มหากาพย์คลองด่าน'

โดย ACT โพสเมื่อ May 30,2018

- - ขอบคุณข้อมูลจาก แนวหน้า - -

 

คอลัมน์ กวนน้ำให้ใส โดย : สารส้ม

 

วันที่ 30 พ.ค. 2561 จะเป็นวันที่มหากาพย์ทุจริตคลองด่าน เดินมาถึงฉากสุดท้าย

 

ศาลแขวงดุสิต นัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา (ครั้งที่ 2) คดีทุจริตโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ซึ่งมีทั้งประเด็นฉ้อโกงจัดซื้อที่ดินและสัญญาก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย

 

1. คดีนี้ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นโจทก์

 

ยื่นฟ้องจำเลยไป 19 ราย แต่ศาลแขวงดุสิต ให้ยกฟ้องในส่วนของกิจการร่วมค้า NVPSKG จำเลยที่ 1 และสั่งประทับรับฟ้องคดีไว้พิจารณาเฉพาะจำเลยที่ 2-19

 

คงเหลือจำเลยเข้าสู่กระบวนพิจารณาของศาล 18 ราย ประกอบด้วย บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง, บริษัท ประยูรวิศว์การช่างฯ, บริษัท สี่แสงการโยธา (1979)ฯ, บริษัท กรุงธนเอนยิเนียร์ฯ, บริษัท เกตเวย์ดิเวลลอปเมนท์ฯ, บริษัท คลองด่านมารีน แอนด์ ฟิชเชอรี่ฯ, บริษัท ปาล์ม บีช ดีเวลลอปเมนท์ฯ รวมถึงบุคคลที่เป็นกรรมการผู้บริหารบริษัทเหล่านี้ (ขณะนั้น) และนายวัฒนา อัศวเหม อดีต รมช.มหาดไทย เป็นจำเลย

 

2. ประเด็นที่ฟ้องร้อง ก็คือ กล่าวหาว่า กลุ่มจำเลยได้รวมกันกระทำความผิดฐานฉ้อโกงการจัดซื้อที่ดิน อ.คลองด่าน จ.สมุทรปราการ เนื้อที่รวม 1,900 ไร่ มูลค่า 1,900 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน โดยเอาลำคลองสาธารณะและป่าชายเลนโฉนด แล้วก็ยังได้ร่วมกันฉ้อโกงสัญญาก่อสร้างฯ มูลค่ากว่า 23,000 ล้านบาท

 

จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ

 

โดยในชั้นไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ ศาลแขวงดุสิตให้ยกฟ้องในส่วนของกิจการร่วมค้า NVPSKG จำเลยที่ 1 และสั่งประทับรับฟ้องคดีไว้พิจารณาเฉพาะจำเลยที่ 2-19 คงเหลือจำเลยที่เข้าสู่กระบวนพิจารณาและมีคำพิพากษาของศาลรวม 18 รายเท่านั้น

 

3.คดีนี้ ศาลแขวงดุสิตได้อ่านคำพิพากษา เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2552 ชี้ว่า พวกจำเลยกระทำผิดจริง พิพากษาจำคุกจำเลยที่เป็นบุคคลธรรมดา รวมถึงนายวัฒนา อัศวเหม คนละ 3 ปี

 

พวกจำเลยยื่นอุทธรณ์

 

ต่อมา วันที่ 19 พ.ย.2556 ศาลแขวงดุสิตได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ชี้ว่า ช่วงเวลาที่บริษัท ปาล์ม บีชฯ ซื้อที่ดินเพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียฯ ยังไม่แน่ชัดว่าโครงการจะใช้ที่ดินบริเวณใดบ้าง โดย คพ.เพิ่งมีโครงการชัดเจนว่าจะใช้ที่ดิน ต.คลองด่าน ในเดือน ก.พ.2539  พยานหลักฐานโจทก์จึงยังไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ว่า พวกจำเลยเข้ามาเกี่ยวข้องหรือดำเนินการใดๆ ให้คณะกรรมการคัดเลือกของ คพ. เลือกที่ดินของ บริษัท คลองด่านมารีนฯ อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น พิพากษากลับให้ยกฟ้องจำเลย

 

กรมควบคุมมลพิษ (คม.) ได้ยื่นฎีกา

 

เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2561 ที่ผ่านมา  ศาลแขวงดุสิตได้นัดอ่านคำพิพากษา ศาลฎีกาคดีนี้ แต่ได้มีคำสั่งเลื่อนอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา เนื่องจากจำเลยบางราย ไม่มาศาล บางคนยังไม่ได้รับหมายนัด บางรายป่วยเข้ารับการผ่าตัด ขอเลื่อน ฟังคำพิพากษาฎีกาไปก่อน ศาลจึงให้ส่งหมายนัดใหม่ หากไม่มีผู้รับให้ปิดหมายแทน และนัดอ่านคำพิพากษาฎีกาคดีนี้อีกครั้งวันที่ 30 พ.ค.นี้ เวลา 09.00 น.

 

4.คดีนี้ ถือเป็นคดีประวัติศาสตร์ของมหากาพย์ทุจริตคลองด่าน

 

กล่าวได้ว่า นี่คือคดีหลัก คดีเริ่มแรก ก่อนที่จะคดีแตกแขนงแยกย่อยในตามตัวประเด็นความผิดและตัวบทกฎหมาย เช่น คดีค่าโง่ที่ศาลปกครอง, คดีทุจริตประพฤติมิชอบของนายวัฒนา อัศวเหม, คดีทุจริตประพฤติมิชอบของข้าราชการกรมควบคุมมลพิษ ฯลฯ

 

คำพิพากษาของศาลฎีกาในคดีนี้ จึงมีความสำคัญอย่างที่สุด

 

สำคัญว่า คดีประวัติศาสตร์นี้ จะถูกบันทึกจดจารไว้อย่างไรบนหน้าประวัติศาสตร์คดีโกงของประเทศไทย

 

5.คำพิพากษาศาลฎีกาออกมาอย่างไร ทุกฝ่ายต้องเคารพและถือปฏิบัติตาม แต่ในคดีอื่นๆ ที่มีคำพิพากษาออกมาแล้วนั้น น่าสนใจว่า

 

5.1   ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก 10 ปี นายวัฒนา อัศวเหม ฐานใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งโดยมิชอบ บังคับจูงใจ ให้เจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดิน จ. สมุทรปราการ ออกโฉนดที่ดินใน อ.คลองด่าน จ.สมุทรปราการ เนื้อที่ 1,900 ไร่ ให้กับบริษัท ปาล์ม บีช ดีเวลลอปเมนท์ฯ

 

แต่นายวัฒนาหลบหนีจนถึงบัดนี้

 

5.2  ศาลอาญาได้มีคำพิพากษา ลงวันที่ 17 ธ.ค. 2558 คดีหมายเลขแดงที่ อ.4197/2558 นายปกิต กิระวานิช อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ นายศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และนางยุวรี อินนา อดีตนักวิชาการสิ่งแวดล้อม 7 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 ให้ลงโทษจำคุกคนละ 20 ปี ฐานร่วมกันใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต และปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐและประชาชน

 

ศาลอาญาชี้ว่า การที่จำเลยทั้งสาม ซึ่งมีหน้าที่ดำเนินการและรับผิดชอบโครงการดังกล่าว กลับไม่ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ยินยอมให้บริษัทปาล์ม บีชฯ ที่บริษัทคลองด่าน มารีนฯ ถูกเชิดให้ถือกรรมสิทธิ์แทน ซึ่งไม่มีคุณสมบัติในการยื่นซองประกวดราคา ได้ยื่นข้อเสนอตั้งโรงบำบัดน้ำเสีย ทั้งยังปกปิดรูปแบบการการประกวดราคา การจัดซื้อที่ดิน ทำให้รัฐเสียเปรียบ มิได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา เป็นการฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรีที่ประกวดราคาแบบเหมารวม โดยไม่ดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 และระเบียบการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ พ.ศ. 2534

 

การกระทำของจำเลยทั้งสามเลือกดำเนินการเกี่ยวกับโครงการไปในทาง ที่ขัดต่อระเบียบราชการ พฤติการณ์ส่อแสดงให้เห็นถึงการวางแผนและดำเนินการ เพื่อเอื้อประโยชน์นับแต่ให้ที่ดินของบริษัท คลองด่านฯ ได้รับคัดเลือกนำมาใช้ในโครงการ ร่วมกันปกปิด และบิดเบือนสร้างราคาที่ได้ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ มีผล เกี่ยวเนื่องให้กิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี (NVPSKG JOINT VENTURE) เข้ามา เป็นคู่สัญญาก่อสร้างโครงการกับกรมควบคุมมลพิษ แสดงให้เห็นว่าชัดแจ้งว่า กลุ่มเอกชน ร่วมกันบิดเบือนและปกปิดข้อเท็จจริงการเสนอแต่ละขั้นตอนโดยทุจริต แล้วเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งมีจำเลยทั้งสามรวมอยู่ด้วย กับผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีที่มีหน้าที่รับผิดชอบ เข้าร่วมมือกัน เป็นการกระทำโดยทุจริต และเอื้อประโยชน์ช่วยเหลือกัน ทำให้โครงการก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสีย เขตควบคุมมลพิษ จ.สมุทรปราการ ระหว่างกรมควบคุม มลพิษ กับ กิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี เป็นสัญญาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

5.3  เมื่อสองเดือนที่แล้ว ศาลปกครองกลางได้อ่านคำพิพากษา เพิกถอนค่าโง่คลองด่าน 9,000 กว่าล้านบาท

 

ทำให้หน่วยงานของรัฐไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายในกรณีบอกเลิกสัญญาโครงการคลองด่าน

 

แม้ว่าก่อนหน้านี้ ศาลปกครองเคยพิพากษาให้ต้องจ่ายแก่เอกชนตามอนุญาโตตุลาการก็ตาม แต่ในยุครัฐบาล คสช.นี่เอง กรมควบคุมมลพิษและกระทรวงการคลังได้ร้องขอให้พิจารณาพิพากษาคดีใหม่ ภายหลังจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาชี้ว่า คดีดังกล่าวมีการร่วมกันวางแผนและมีการเอื้อประโยชน์ระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในฐานะผู้แทนฝ่ายผู้ว่าจ้างกับผู้รับจ้าง

 

นับเป็นเป็นผลงานชิ้นโบแดงยุครัฐบาล คสช. ที่ยืนหยัดต่อสู้ปกป้องผลประโยชน์ของแผ่นดิน

 

ในคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง พิจารณาลงลึกในรายละเอียดข้อเท็จจริง ชี้ให้เห็นพฤติกรรมการกระทำผิดกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ และการเอื้อประโยชน์แก่เอกชนโดยมิชอบ ระบุว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่กรมควบคุมมลพิษ ได้ดำเนินการขัดต่อระเบียบของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี และกฎหมาย ทั้งในขั้นตอนการพิจารณาคัดเลือกผู้มีคุณสมบัติเหมาะสม การจัดหาที่ดิน การประกวดราคา และมีการแก้ไขข้อความในร่างสัญญาที่ผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานอัยการสูงสุดในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ ทำให้ทางราชการได้รับความเสียหาย โดยผู้ที่จะรับประโยชน์ คือ บริษัท คลองด่านมารีน แอนด์ ฟิชเชอรี่ จำกัด และกิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี สัญญาโครงการออกแบบรวมก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย ซึ่งเกิดจากการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่มีผลผูกพันกรมควบคุมมลพิษ คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ชี้ขาดให้ผู้คัดค้านชำระเงิน จึงมีเหตุให้เพิกถอนได้ เนื่องจากการบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าวเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน

 

6.ทุกคดีที่ศาลตัดสินมาก่อนหน้านี้ มีข้อเท็จจริงและแนวทางวินิจฉัยสอดคล้องไปในทางเดียวกัน

 

วันนี้ วันที่ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ในคดีหลักของมหากาพย์คลองด่าน จึงนับเป็นฉากสุดท้ายของมหากาพย์อันลือลั่น ข้ามยุคข้ามสมัยมายาวนาน อย่างแท้จริง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

#ร่วมเป็นพลเมืองตื่นรู้สู้โกง

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw